ผลงานด้านประวัติศาสตร์ (Les œuvre historiques) ของ ผลงานของวอลแตร์

นอกจากเป็นนักเขียนและนักปรัชญาแล้ว วอลแตร์ยังเป็นนักประวัติศาสตร์อีกด้วย ซึ่งเขาได้วางหลักเกณฑ์การเขียนงานทางด้านนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คือ การเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่เรื่องราวของกษัตริย์และสงคราม แต่ควรที่จะสนใจทุก ๆ เรื่อง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี และความคิดอ่านของคนในชาตินั้น ๆ ด้วย แนวความคิดหลักของเขาได้แก่ การติดตามวิวัฒนาการทางปัญญา วัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษยชาติจากสมัยเริ่มแรกที่มนุษย์ยังป่าเถื่อนจนกระทั่งกลายเป็นมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรม ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ วอลแตร์ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักเขียนของเขามากกว่าความเป็นนักประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เขาจะยึดหลักว่าจะต้องให้ผู้อ่านสนุกไปกับประวัติศาสตร์เสมือนกำลังอ่านนวนิยายหรือบทละครอยู่

อย่างไรก็ตาม วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของวอลแตร์มีความทันสมัยมาก คือ เขาทำการค้นคว้าหาข้อมูลทางเอกสาร และรวบรวมหลักฐานเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงด้วยการใช้ปัญญาและเหตุผลเพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์ด้วย

ผลงานประเภทนี้ที่สำคัญ ได้แก่

  • Histoire de Charles XII (1731)
  • Le Siècle de Louis XIV (1751)
  • Essai sur les mœurs et l’esprit des nations (1756)

Histoire de Charles XII (1731)

เป็นผลงานประเภทโศกนาฏกรรมร้อยแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 แห่งประเทศสวีเดน และถือว่าเป็นผลงานเชิงประวัติศาสตร์ชิ้นแรกของ วอลแตร์ โดยเนื้อเรื่องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกกล่าวถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 ด้วยการพิชิตศัตรูจนราบคาบ ส่วนในครึ่งหลังกล่าวถึงการรตกต่ำและการสูญเสียอำนาจของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 วอลแตร์ได้ใช้การบรรยายเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นโดยเฉพาะการเล่าเรื่องสงคราม นอกจากนั้น เขายังพยามยามที่จะชี้ให้บรรดากษัตริย์ร่วมสมัยของเขาเห็นถึงความผกผันของอำนาจวาสนาและผลร้ายของการคลั่งอำนาจอีกด้วย

Le Siècle de Louis XIV (1751)

ผลงานชิ้นนี้ถือว่าเป็นวิวัฒนาการก้าวใหม่ของการเขียนงานเชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงพงศาวดารที่บันทึกเหตุการต่าง ๆ โดยปราศจากการวิเคราะห์ และกล่าวถึงเฉพาะการยกย่องกษัตริย์และสงคราม ซึ่งต่างกับผลงานชิ้นนี้ของวอลแตร์ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อข้อเท็จจริง เคร่งครัดกับลำดับเหตุการณ์ มีการรวบรวมเอกสารจำนวนมากเพื่อนำมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยการวิเคราะห์วิจารณ์ และมิได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของกษัตริย์และสงครามแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาได้ให้ความสำคัญแก่นโยบายการปกครอง กฎหมาย ระบบตุลาการ การพาณิชย์ ศาสนา และศิลปะวิทยา อีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากอีกชิ้นหนึ่ง เพราะเป็นหลักฐานที่ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เป็นอย่างดี ความตั้งใจแรกของวอลแตร์คือ เขาตั้งใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทางอ้อม โดยการอาศัยการเปรียบเทียบกับรัชสมัยอันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แล้ว ความตั้งใจเดิมก็เปลี่ยนไป เนื้อหาโดยรวมวอลแตร์ได้วิเคราะห์ถึงราชสำนัก รัฐบาล ศิลปะ ปัญหาทางศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แนวความคิดของผลงานชิ้นนี้คือ “ราชาผู้รู้แจ้ง” เท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและศิลปะวิทยาการในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่าศตวรรษของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นยุคที่มีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์อย่างแท้จริง

Essai sur les mœurs et l’esprit des nations (1756)

ความเรียงว่าด้วยเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วอลแตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านวัตถุ วิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก เขาได้เน้นถึงความสำคัญของจารีตประเพณี ความเชื่อของคนในสังคม และชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพที่อยู่ในส่วนลึกของธรรมชาติมนุษย์ที่อยู่ในทุกแห่งหน อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังยึดมั่นที่จะประณามความบ้าคลั่งทางศาสนาเช่นเดิม แต่ก็มีสิ่งใหม่ 2 ประการในผลงานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ คือ ประการแรก วอลแตร์เน้นว่าความบังเอิญเป็นตัวการที่ช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ ประการที่สองคือ เขาได้เน้นให้เห็นถึงบทบาทของมหาบุรุษ เช่น พระเจ้าชาร์ลมาญ (Charlemagne) ว่าเป็นผู้นำมนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาการและอารยธรรม

ใกล้เคียง

ผลงานเพลงของเอ็กโซ ผลงานเพลงของเซเวนทีน ผลงานด้านภาพยนตร์ของเฉินหลง ผลงานเพลงของเกิลส์เจเนอเรชัน ผลงานเพลงของเอ็นซีที ผลงานเพลงของแบล็กพิงก์ ผลงานเพลงของไอยู ผลงานของเทกแดต ผลงานเพลงของสเตรย์คิดส์ ผลงานเพลงของเอพิงก์